วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กฎหมายลักษณะตั๋วเงิน : ตั๋วสัญญาใช้เงิน

โดย นายกมลพัฒน์  พจน์โพธิ์ศรี  ID. 5510419 No.18
วิชา Computer Law and Computer for Legal(LW2602) Section 2

วิวัฒนาการของตั๋วเงิน
 
               การใช้ตั๋วเงินเป็นแนวความคิดของพ่อค้าระหว่างประเทศที่ต้องการออกตั๋วเงินเพื่อใช้ในการชำระหนี้ อันเกิดจากการค้าขายระหว่างพ่อค้าที่อยู่ในท้องถิ่นกับประเทศอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินตราชำระหนี้เพราะอาจมีอันตราย โดยผู้ซื้อสินค้าซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ออกตั๋วชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่
ผู้ขายสินค้าซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ด้วยการสั่งให้ลูกหนี้ของตนใช้เงินตามตั๋วเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือ
เจ้าหนี้ อีกทั้งผู้รับชำระหนี้ด้วยตั๋วเงินยังสามารถนำตั๋วเงินนั้นไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนเองต่อไปได้ หลังจากมีตั๋วเงินเกิดขึ้นและใช้กันทั่วไป ก็มีสัญญาใช้เงินและเช็คเกิดขึ้นตามมา

 วิวัฒนาการของกฎหมายตั๋วเงิน
 
               ในยุคแรกของการดำเนินธุรกิจ แม้จะมีการใช้ตั๋วเงินแล้วแต่ก็ยังไม่มีกฎหมายตั๋วเงินที่เป็น
ลายลักษณ์อักษร ยังคงใช้จารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นกฎหมายจารีตประเพณี ที่เรียกว่า" กฎหมายพ่อค้า " (Law Merchant)  กฎหมายตั๋วเงินที่เป็น
ลายลักษณ์อักษรเกิดมีขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรก และต่อๆมาในทวีปยุโรป ประเทศต่างๆก็มีกฎหมายตั๋วเงินเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งส่วนมากจะบัญญัติรวมอยู่ในประมวลกฎหมายพาณิชย์ ส่วนของอังกฤษออกกฎหมายตั๋วเงินเป็นพระราชบัญญัติ ทวีปอื่นๆก็มีกฎหมายตั๋วเงินเป็นของตนเอง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุโรปและอังกฤษ โดยจะรวมอยู่มฃในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น ประเทศไทย

               เนื่องจากว่าตั๋วเงินเป็นตราสารที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศและกฎหมายแต่ละประเทศก็ยังมีข้อแตกต่างกันอยู่มากทำให้เกิดปัญหาในการใช้ตั๋วเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นเพื่อให้กฎหมายตั๋วเงินของประเทศต่างๆมีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน จึงได้มีการประชุมกันระหว่างบรรดาประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสนธิสัญญาต่อกัน อันเป็นต้นกำเนิดของ"Uniform Law" ส่วนบรรดากลุ่มประเทศซึ่งไม่ได้อยู่ในภาคีสนธิสัญญา ก็ได้ร่างกฎหมายตั๋วเงินของตนโดยยึดหลัก Uniform Law เป็นรูปแบบ

กฎหมายตั๋วเงินของไทย

                ก่อนปี พ.ศ.2467 แม้ไทยได้มีการใช้ตั๋วเงินในการค้าขายกับชาวต่างชาติ แต่ไทยก็ยังไม่มีกฎหมายตั๋วเงินเป็นของตนเอง เมื่อเกิดมีคดีความขึ้น ศาลไทยใช้หลักกฎหมายของต่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งของอังกฤษ

                ในปี พ.ศ.2467 ไทยได้มีกฎหมายตั๋วเงินฉบับแรก คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 พ.ศ.2474 โดยอาศัยแบบอย่างจากกฎหมายภายในของประเทศต่างๆ จึงทำให้กฎหมายตั๋วเงินของไทยเป็นระบบผสมระหว่างซิวิลลอว์และคอมมอนลอว์

 ลักษณะสำคัญของตั๋วเงิน

                - ตั๋วเงินเป็นสัญญา  จึงต้องนำเอาหลักเกณฑ์ของนิติกรรมเข้ามาปรับด้วย แต่เมื่อใดที่สัญญาตั๋วเงินมีกฎเกณฑ์ที่เป็นของตั๋วเงินโดยเฉพาะจะนำเอาหลักเกณฑ์ของนิติกรรมสัญญาโดยทั่วไปมาบังคับใช้ไม่ได้

                - ตั๋วเงินเป็นนิติกรรมแบบพิเศษ  คือเป็นสัญญาที่ต้องเป็นเอกสาร ทั้งข้อความในเอกสารนั้นจะต้องสมบูรณ์ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย เว้นแต่กฎหมายตั๋วเงินกำหนดเป็นข้อยกเว้นให้ขาดหายได้ เนื่องจากเป็นข้อความที่ไม่บังคับให้ต้องมีโดยเด็ดขาด แต่ก็ได้บัญญัติทางแก้ไว้แล้ว ดังนั้นตั๋วเงินเป็นสัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือตราสาร

                - ตั๋วเงินเป็นเอกสารที่ใช้เพื่อชำระหนี้แทนเงินตรา  การใช้ตั๋วเงินเพื่อชำระหนี้หมายความถึงการออกตั๋วหรือการโอนตั๋วเพื่อชำระหนี้และหนี้ที่จะต้องชำระดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้เงินเท่านั้น นอกจากนั้นยังต้องเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายและบังคับกันตามกฎหมายด้วย ดังนั้นตั๋วเงินจึงต้องมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินตราและเงินตรานั้นต้องเป็นเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเท่านั้น โดยอาจกำหนดเป็นเงินไทยหรือสกุลเงินต่างประเทศก็ได้ ถ้าเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศและมิได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงิน

               - การใช้ตั๋วเงินชำระหนี้ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่  ในเรื่องความระงับแห่งหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ยอมชำระหนี้เป็นอย่างอื่นแทนการชำระหนี้เดิมตามที่ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป แต่การชำระหนี้ด้วยออกหรือโอนตั๋วเงิน มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมจึงยังไม่ระงับและได้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นคือหนี้ตามตั๋วเงิน ในการใช้ตั๋วเงินชำระหนี้ดังกล่าวนี้หนี้เดิมจะระงับไปก็ต่อเมื่อมีการใช้เงินตามตั๋วเงินเสร็จสิ้นครบถ้วนแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคท้าย)

               - ตั๋วเงินเป็นหนังสือตราสารที่เปลี่ยนมือได้  สามารถหมุนเวียนเปลี่ยนมือได้สะดวกรวดเร็ว โดยวิธีโอนได้กำหนดรูปแบบไว้ที่มาตรา 917 , 918 และ 919 ขึ้นอยู่กับชนิดหรือแบบของตั๋วเงินว่าเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายแบบเฉพาะหรือตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ

               - คู่สัญญาฝ่ายลูกหนี้ในตั๋วเงินมีได้ไม่จำกัดจำนวน  จากผลของการที่ตั๋วเงินเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ จึงทำให้คู่สัญญาฝ่ายลูกหนี้ตามตั๋วเงินสามารถที่จะมีหลายคนได้ มากน้อยขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนมือของตั๋วเงินมากน้อยเพียงใด แต่หากตั๋วเงินไม่มีการเปลี่ยนมือคือ ไม่มีการโอน ลูกหนี้จะมีเพียงผู้เดียว คือผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน หรือผู้สั่งจ่ายเช็ค หรือผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน

 ประเภทของตั๋วเงิน

               คำว่า "ตั๋วเงิน" ไม่มีบทนิยามของกฎหมายให้ความหมายไว้ว่า ตั๋วเงินคืออะไร แต่ได้จำแนกประเภทไว้ทั้งหมด 3 ประเภท และบางประเภทมีการแบ่งแยกชนิดหรือแบบไว้ว่ามี 2 แบบ

                1. ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) มี 2 ชนิด
                    - ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงิน หรือ ตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายแบบเฉพาะ (Order Bill)
                    - ตั๋วแลกเงินชนิดไม่ระบุชื่อผู้รับเงิน หรือตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ (Bareer Bill)
                2. ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note)
                3. เช็ค (Cheque)

 ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note)

                หรือตั๋ว P/N ที่กฎหมายกำหนดบังคับไว้ดังนี้คือ

                1. เป็นสัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือตราสาร
                2. ที่ด้านหน้าของหนังสือตราสารดังกล่าวนี้ จะต้องมีบุคคลอยู่ 2 ฐานะ คือบุคคลคนหนึ่ง
อยู่ในฐานะที่ถูกเรียกว่า "ผู้ออกตั๋ว" (Maker) และบุคคลอีกคนหนึ่งอยู่ในฐานะที่ถูกเรียกว่า
"ผู้รับเงิน" (Payee)
                3. เนื้อความของหนังสือตราสารนี้จะต้องมีลักษณะเป็นคำมั่นสัญญา ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาของผู้ออกตั๋วในการที่ใช้เงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ดังนั้นผู้ออกตั๋วกับผู้รับเงิน จะต้องเป็นคนละคนกัน จะเป็นคนเดียวกันไม่ได้

                ชนิดของตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีการแบ่งแยกชนิด เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ตั๋วสัญญาใช้เงินต้องระบุชื่อยี่ห้อของผู้รับเงินเท่านั้น ผู้ออกตั๋วจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินให้แก่ผู้ถือไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่มีชนิดออกให้แก่ผู้ถือ
 
 ลักษณะของตั๋วสัญญาใช้เงิน


                มาตรา 982 บัญญัติว่า "อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า "ผู้ออกตั๋ว" ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า "ผู้รับเงิน""

                จะเห็นได้ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินในเบื้องต้นนั้นมีคู่สัญญาอยู่เพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น คือฝ่ายหนึ่งได้แก่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(the maker) ที่ต้องรับผิดจ่ายตามตั๋วที่ตนออก และอีกฝ่ายหนึ่งได้แก่ผู้รับเงิน(the payee) ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินตามตั๋วหรือเป็นผู็มีสิธิที่จะสั่งให้ผู้ออกตั๋วใช้เงินให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามที่ผู้รับเงินจะสั่ง จึงมีการกล่าวเปรียบเทียบว่าผู้สั่งจ่ายมีลักษณะคล้ายกับผู้ค้ำประกัน กล่าวคือ จะรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่ผู้ทรงก็ต่อเมื่อตั๋วแลกเงินนั้นผู้จ่ายหรือผู้รับรองไม่ยอมใช้เงินให้ผู้ทรง ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นผู้ออกตั๋วเป็นผู้ให้คำมั่นสัญญาโดยตรงต่อผู้ทรงตั๋วว่าเขาจะเป็นผู้ใช้เงินตามตั๋วให้แก่ผู้ทรงเองเมื่อตั๋วถึงกำหนดไม่ใช่ว่าจะใช้เงินเมื่อคนอื่นไม่ยอมใช้ให้

 รายการที่ต้องปรากฎในตั๋วสัญญาใช้เงิน
 
                มาตรา 983 บัญญัติว่า "ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นต้องมีรายการดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
                (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
                (2) คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
                (3) วันถึงกำหนดใช้เงิน
                (4) สถานที่ใช้เงิน
                (5) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
                (6) วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
                (7) ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว"

                มาตรา 984 บัญญัติต่อไปว่า "ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน เว้นแต่ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
               ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออกตราสารนั้นเป็นสถานที่ใช้เงิน
               ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ระบุสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว
               ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้"
 
 
 
               (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
               รายการข้อนี้ถือเป็นสาระสำคัญที่ต้องมี หากขาดรายการข้อนี้ย่อมไม่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
(คำพิพากษาฎีกาที่ 3871/2536)
 
               (2) คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
               ข้อนี้เป็นรายการสำคัญที่สุดของตั๋วสัญญาใช้เงิน ความในบทภาษาไทยใช้ทั้งคำว่า "คำมั่น" และ "สัญญา" ในขณะที่ความในภาษาอังกฤษใช้เพียงคำว่า "promise" ทำให้ดูเป็นประหนึ่งว่าต้องมีบุคคลอีกคนหนึ่งเข้ามารับการแสดงเจตนาก่อนตราสารนั้นจึงจะสมบูรณ์เป็นสัญญาใช้เงิน

               (ก) คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนที่แน่นอนนี้ ต้องมีความชัดเจน อ่านแล้วได้ความว่า
ผู้ออกตั๋วจะใช้เงินตามตั๋วนั้นให้แก่ผู้ทรงด้วยตัวเอง  ไม่ใช่เพียงแต่คำรับสภาพหนี้ซึ่งจะไม่มีลักษณะเป็นคำมั่นสัญญา ส่วนจะเขียนข้อความอย่างใดก็ได้ขอให้มีข้อสัญญาแสดงออกโดยชัดแจ้งว่าจะใช้เงินให้ เงินที่จะใช้หนี้เป็นจำนวนที่แน่นอน อันหมายถึงจำนวนที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง

               (ข) ต้องเป็นคำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไข
 
               (3) วันถึงกำหนดใช้เงิน
               หากในตั๋วสัญญาใช้เงินมิได้ระบุเวลาใช้เงินไว้ ก็ไม่ถึงกับทำให้ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นเสื่อมเสียไม่ กฎหมายให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น (มาตรา 984 วรรคสองและดูคำพิพากษาฎีกาที่ 986/2507 ประกอบ)
 
               (4) สถานที่ใช้เงิน
 
               (5) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
               รายการข้อนี้เป็นข้อสำคัญขาดไม่ได้ ในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไม่ใช่เพียงแต่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงินเท่านั้น แต่ผู้รับเงินต้องเป็นบุคคล "อีก" คนหนึ่งต่างหากจากผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นอันเป็นที่เห็นได้ว่าแตกต่างไปจากตั๋วแลกเงินซึ่งมี

               มาตรา 912 บัญญัติอนุญาตให้ผู้สั่งจ่ายและผู้รับเงินเป็นบุคคลคนเดียวก็ได้ แต่กรณีของตั๋วสัญญาใช้เงินมิได้เป็นเช่นนั้น โดยในมาตรา 985 วรรคแรก มิได้ให้นำมาตรา 912 มาใช้บังคับกับตั๋วสัญญาใช้เงิน หากตราสารใดที่ผู้ออกตราสารระบุว่าจะใช้เงินให้แก่ตนเอง แม้ตราสารนั้นจะมีรายการอื่นๆ ตามมาตรา 983 ครบถ้วน ตราสารนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเพราะขาดรายการข้อ (5)

               ชื่อของผู้รับเงินอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ หรืออาจระบุตำแหน่งก็ได้

               อีกประการหนึ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะออกให้แก่ผู้ถือไม่ได้ซึ่งไม่เหมือนกับตั๋วแลกเงินและเช็คที่อาจออกให้ใช้เงินแก่ผู้ถือได้ เหตุที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินโดยระบุว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือก็เนื่องมาจากมาตรา 982 กำหนดว่าเป็นกรณีผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้รับเงิน จึงต้องระบุว่าจะใช้เงินให้แก่ผู้ใด หากไม่มีการระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือระบุว่าให้ใช้เงินตามคำสั่งของผู้ใดแล้ว ตราสารนั้นย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1218/2501)
 
               (6) วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
               วันที่ออกตั๋วนั้นจำต้องระบุไว้เพื่อที่จะได้ทราบว่าตั๋วฉบับนั้นออกให้แก่กันเมื่อใด วันออกตั๋วคือวันที่เขียนระบุไว้ลงในตั๋ว วันออกตั๋วมีประโยชน์หลายประการ เช่น การคิดคำนวณดอกเบี้ย ถ้ามิได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นให้คิดดอกเบี้ยแต่วันที่ลงในตั๋ว (วันออกตั๋ว) (มาตรา 911 ประกอบมาตรา 985 วรรคแรก) หรือให้รู้วันถึงกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดที่ระบุวันถึงกำหนดใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋ว
 
               (7) ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว
               รายการข้อนี้สำคัญขาดเสียไม่ได้ เพราะผู้ออกตั๋วเป็นบุคคลผู้ต้องเข้าใช้เงินตามตั๋วให้แก่ผู้ทรงเมื่อตั๋วถึงกำหนด
               ทั้ง 7 รายการดังที่กล่าวข้างต้นจะต้องมีปรากฎอยู่ในตั๋วสัญญาใช้เงิน หากตราสารใดมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ระบุไว้และไม่เข้าข้อยกเว้นดังที่ระบุไว้ในมาตรา 984 วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ตราสารนั้นย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน จะนำกฎหมายลักษณะตั๋วเงินมาปรับใช้ไม่ได้ (มาตรา 984 วรรคแรกแบะมาตรา 898) แต่ตราสารนั้นอาจมีผลบังคับตามกฎหมายลักษณะอื่นได้ (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 439/2493 ประกอบ)
 
               บทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินที่นำมาใช้บังคับกับตั๋วสัญญาใช้เงิน
               มาตรา 985 ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับกับตั๋วสัญญาใช้เงินเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพของตั๋วสัญญาใช้เงิน อันได้แก่ บทบัญญัติในมาตราต่างๆต่อไปนี้
               มาตรา 911 จำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้คิดดอกเบี้ยได้
               มาตรา 913 วันถึงกำหนดใช้เงิน
               มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องให้รับผิดติดตามมูลหนี้ตั๋วเงิน หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ออกตั๋วหรือกับผู้ทรงคนก่อนๆนั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
               มาตรา 917, มาตรา 919, มาตรา 920 และมาตรา 922-926 ว่าด้วยการโอนและการสลักหลังตั๋วเงิน การสลักหลังต้องไม่มีเงื่อนไข การสลักหลังตั๋วเงินเพื่อให้เรียกเก็บและการสลักหลังจำนำตั๋ว
               มาตรา 938 ถึงมาตรา 940 ว่าด้วยการอาวัลตั๋วเงิน
               มาตรา 941 ถึงมาตรา 947 และมาตรา 949 ว่าด้วยเรื่องการใช้เงินตามตั๋วเงิน
               มาตรา 950, มาตรา 954 ถึงมาตรา 958 ว่าด้วยเรื่องการใช้เงินเพื่อแก้หน้า
               มาตรา 959, มาตรา 967 ถึงมาตรา 971 เกี่ยวกับสิทธิไล่เบี้ยเมื่อไม่มีการใช้เงิน
               ถ้าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 960 ถึงมาตรา 964 ว่าด้วยการทำคำคัดค้าน และมาตรา 973, มาตรา 974 ว่าด้วยผลของการไม่ทำคำคัดค้านมาใช้บังคับ (มาตรา 985 วรรคสอง)
 
บทบัญญติที่ใช้บังคับกับตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็น


               มาตรา 986 วรรคสอง บัญญัติว่า "ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น ต้องนำยื่นให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้ภายในจำกัดเวลาดังกำหนดไว้ในมาตรา 928 กำหนดเวลานี้ให้นับแต่วันจดรับรู้ซึ่งลงลายมือชื่อผู้ออกตั๋วถ้าผู้ออกตั๋วบอกปัดไม่ยอมจดรับรู้และลงวันไซร้ การที่เขาบอกปัดเช่นนี้ ท่านว่าต้องทำให้เป็นหลักฐานขึ้นด้วยคำคัดค้าน และวันคัดค้านนั้นให้ถือเป็นวันเริ่มต้นในการนับกำหนดเวลาแต่ได้เห็น"
 
การจดรับรู้

               เนื่องจากในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีการต้องยื่นตั๋วให้รับรอง เพราะผู้ที่ต้องใช้เงินตามตั๋วคือ
ผู้ออกตั๋วนั่นเอง อย่างไรก็ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ระบุให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นตั๋วนั้น ผู้ทรงก็ต้องนำตั๋วนั้นไปยื่นเพื่อให้ผู้ออกตั๋วเห็นก่อนครั้งหนึ่ง เพื่อให้จดวันที่ลงไปแล้วเริ่มนับระยะเวลาต่อไปตามที่กำหนดไว้ในตั๋ว เพื่อมิให้ไปปะปนและจะทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้ กฎหมายจึงใช้คำว่า
จดรับรู้เพื่อให้แตกต่างไปจากการที่ผู้จ่ายรับรองตั๋วแลกเงิน การที่ผู้ออกตั๋วจดรับรู้พร้อมลงวันที่จดรับรู้ไว้ย่อมเรียกได้ว่าผู้ออกตั๋วได้เห็นตั๋วที่ตนจะต้องใช้เงินนั้นแล้ว การเริ่มนับระยะเวลาการใช้เงินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันจดรับรู้เป็นต้นไป
 
ความรับผิดของผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน

               มาตรา 986 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้รับรองตั๋วแลกเงิน"
               ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีความรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับผู้รับรองตั๋วแลกเงินซึ่งหมายความว่าผู้รับรองตั๋วแลกเงินมีความรับผิดผูกพันที่จะต้องรับผิดตามคำรับรองของตนในอันที่จะต้องใช้เงินตามตั๋วแลกเงินนั้น (มาตรา 937) และผู้รับรองย่อมได้ชื่อว่าเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน ผู้รับรองจะไปเกี่ยงให้ผู้ทรงไปทวงถามให้ลูกหนี้คนอื่นใช้เงินตามตั๋วแลกเงินก่อนไม่ได้ และผู้รับรองจะไม่มีการหลุดพ้นจากความรับผิดเหมือนลูกหนี้คนอื่นๆเลย
               ความในวรรคแรกของมาตรา 986 ใช้คำว่า "ผูกพัน" ซึ่งตัวบทภาษาอังกฤษใช้คำว่า "bound" หมายรวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดด้วย ซึ่งหมายความว่าเมื่อได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ผู้ออกตั๋วย่อมต้องผูกพันในคำมั่นสัญญาของตนว่าจะใช้เงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วให้แก่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับผู้รับรองตั๋วแลกเงินซึ่งต้องผูกพันตามคำรับรองของตนที่ให้ไว้
               เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินและผู้ทรงตั๋วนำตั๋วมายื่นให้ใช้เงิน ผู้ออกตั๋วจำต้องใช้เงินตามจำนวนที่ระบุในตั๋วให้แก่ผู้ทรงในทันที จะเกี่ยงให้ผู้ทรงไปเรียกร้องจากลูกหนี้คนอื่นก่อนไม่ได้ ในกรณีที่ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นมีการสลักหลังเหล่าผู้สลักหลังทั้งหมดย่อมอยู่ในฐานะคล้ายๆ กับผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน กล่าวคือ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด ผู้ทรงต้องนำตั๋วไปยื่นต่อผู้ออกตั๋วเพื่อให้มีการใช้เงินก่อนต่อเมื่อผู้ออกตั๋วปฏิเสธไม่ยอมใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น ผู้ทรงจึงจะมาไล่เบี้ยเอาจากผู้สลักหลังได้ (มาตรา 900 วรรคแรก, 959, 967 ประกอบมาตรา 985)
 
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
บรรณานุกรม
 
เดชา ศิริเจริญ. เอกสารประกอบการสอน วิชา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย ตั๋วเงิน คณะนิติศาสตร์
           มหาวิยาลัยอัสสัมชัญ. 177 หน้า.
ไพฑูรย์ คงสมบูรณ์. คำอธิบายกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2554.
Promissory Note คืออะไร[Online]. แหล่งที่มา : http://www.farm-e.com/promissory-note 
           [27 กรกฎาคม 2556].